เบื้องหลังการส่งมอบทุกเช้าที่ดีให้กับลูกบ้านทุกคนของ SC Asset ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการก่อร่างสร้างความสำเร็จเหล่านั้น เกิดขึ้นมาได้จากบทบาทของพนักงานผู้หญิงในแต่ละภาคส่วนในองค์กร
ในวาระวันสตรีสากล (International Women’s Day) 8 มีนาคมนี้ เราจึงอยากขอบคุณผู้หญิงทุกคน พร้อมหยิบยกเรื่องราวของ ‘SC Super Women’ ทั้ง 5 คน มาเล่าสู่กันฟังถึงการทำหน้าที่ของแต่ละคน รวมถึงความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความสำเร็จให้ SC Asset ในวันนี้
- อร-อรวิศา ผลส่ง
หัวหน้าสายงานการตลาดและการขาย – Head of Marketing and Sales (Property Management)

“หลังจากจบ MBA ที่อเมริกา เราก็เข้ามาทำงานที่ Sc Asset เลย ในตำแหน่งการตลาดและการขาย เริ่มตั้งแต่ระดับจูเนียร์เลย ไต่เต่าขึ้นมาจนอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารที่ดูแลบริหารอาคาร และพื้นที่เช่าทั้ง 4 อาคาร ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันก็สิบกว่าปีแล้วที่มีความสุขกับการทำงานอยู่ที่นี่ เป็นที่ทำงานที่แรกและที่เดียวในชีวิตการทำงานของเรา”
“ความสุขในการทำงานเริ่มจากใจของเราเองนี่แหละ ถ้าเรามีใจรักในการทำงาน มี Mindset ที่ดีที่ต้องการจะเติบโตไปข้างหน้า มีพลังเชิงบวก เราก็จะสามารถทำงานออกมาได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเพศไหน อย่าให้มีข้อจำกัด ที่เกิดจากความเป็นผู้หญิง เรื่องไหนที่ผู้ชายทำได้ เราก็ทำได้เช่นกัน เพราะโลกของผู้หญิงยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโลกที่อยู่แต่ในบ้าน เรามีทั้งโลกภายนอก โลกในหน้าที่การงาน เรามีบทบาทหลายหน้าที่ แล้วเรามั่นใจว่าเราต้องทำมันให้ดีที่สุดในทุกบทบาท”
“สิ่งที่ดีที่สุดในความหมายของเรา คือสิ่งที่ออกมาจากความตั้งใจของเราอย่างสุดกำลัง ถ้าเราทำสุดกำลังแล้ว นั่นก็คือผลของสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่ถ้ายังไม่สุดกำลัง เราก็ยังต้องพัฒนาตัวเองไปไปเรื่อยๆ ตลอดทุกย่างก้าว แต่ถ้ารู้สึกเฟลเราก็จะอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง ไปในที่โล่งๆ อยู่ในที่สงบ เพื่อ find out ออกมาให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ไขยังไง เพื่อจะได้กลับมาแล้วมาสู้อีกครั้งหนึ่ง”
“หน้าที่ความรับผิดชอบของเราต้องอาศัยความอดทน เพราะทุกวันนี้ ความต้องการเช่าพื้นที่มันเปลี่ยนไปมาก คู่แข่งก็มากขึ้นด้วย ยิ่งเจอ Covid-19 ทุกคน Work From Home เราก็ต้องต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมดให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว ที่สำคัญต้องไม่หลงลืมความรักในการบริการเพื่อดูแลลูกค้าให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ”
2. เมย์-ภัทราภรณ์ ศรีเมืองลพ 32 ปี
Community Management (SC Able)

“เราอยู่ในหน่วยงานของนิติบุคคล หรือเรียกว่า Community Management ดูแลงานบริหารนิติบุคคล ดูแลหลังการขายทั้งหมด ตั้งแต่การจัดการเรื่องต่างๆ ให้ลูกบ้าน ดูแลงานส่วนกลางของโครงการให้เรียบร้อย เช่น ความสะอาดของถนน ต้นไม้ในโครงการ ดูแลความปลอดภัย รับเรื่องแจ้งซ่อมต่างๆ เพื่อที่จะส่งเรื่องต่อไปยังช่างซ่อม”
“หน้าที่ของเราอยู่กับการช่วยแก้ปัญหาในทุกๆ วัน ทั้งจากลูกค้าและจากน้องๆ ในทีม เขาก็จะโทรมาขอคำปรึกษาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือกำลังใจในการทำงานว่าเรามีเทคนิคอะไร หน้างานเราเคยเจออะไรมาบ้าง เราแนะนำวิธีการแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะหน้างานเราเจอปัญหาให้แก้ทุกวัน “
“ส่วนใหญ่เรื่องที่คนจะมาขอคำปรึกษาคือการดูแลพื้นที่ส่วนกลาง เรื่องการจอดรถของลูกค้า เราต้องบริหารจัดการเพื่อให้ลูกค้าอยู่ได้อย่างสบายใจมากที่สุด ไม่เกิดการกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน เราก็จะแนะนำไปว่าควรเจรจราอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจเราและปฏิบัติตาม พอเขานำไปทำตามแล้วสำเร็จ เรารู้สึกภูมิใจนะ เพราะเราไม่ได้เลือกปัญหาที่เราจะแก้ ไม่ว่าลูกค้าเจอปัญหาอะไร น้องๆ ในทีมเจอปัญหาอะไรเราช่วยแก้ได้หมด เลยรู้สึกว่ามันคือความสำเร็จของเราเลยที่ทำให้เราภาคภูมิใจ”
“เวลาเราเจอปัญหาเยอะๆ มันก็มีมุมนึงที่เรารู้สึกว่าเราไม่ไหว เราเหนื่อย แต่พอเราได้กลับไปพักหรือได้คุยกับครอบครัวเราก็มีแรงใจขึ้นมา ไม่เคยน้อยใจเลยว่าทำไมคนไม่รู้จักเรา ทั้งที่เราเป็นคนแก้ปัญหาอยู่เบื้องหลัง เพราะถ้าปัญหาหลังบ้านถูกแก้ไข ลูกค้าก็จะแฮปปี้ แผนกอื่นๆ ก็จะไม่เหนื่อยมาก”
“การสร้างพลังใจให้ตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่มีความเชื่อในตัวเองว่าเราจะแก้ไขปัญหาได้ เราจะสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ยากมาก ต่อให้เราได้กำลังใจจากคนอื่น ถ้าเราไม่สร้างกำลังใจให้ตัวเอง คนอื่นให้กำลังใจวันนี้ พรุ่งนี้เราก็ลืมแล้ว แล้วถ้าเรามีพลังใจเต็มเปี่ยมแล้วก็อย่าลืมแบ่งปันไปถึงคนอื่นด้วย”
3. ฟ้าใส-ญาณิศา เรืองฉาย อายุ 20 ปี
AI Trainer

“เราเป็น AI Trainer งานของเราคือการป้อนข้อมูลให้ AI เข้าใจภาษามนุษย์ ให้ผู้พัฒนาโปรแกรมบนแอปพลิเคชัน รู้ใจ (RueJai App) นำไปพัฒนาต่อเพื่อผลิตเป็นคำสั่งในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน เช่น เราจะป้อนข้อความเสียงให้กับ AI ว่า ‘เปิดไฟตอนเที่ยงคืนในห้องครัว’ หรือ ‘เปิดทีวีในห้องนั่งเล่นตอนบ่าย 3’ พอ AI มันเรียนรู้เสียงมนุษย์ไปเรื่อยๆ เรียนรู้จากคนป้อนข้อมูลให้เยอะๆ มันก็จะฉลาดขึ้น จะเลียนเสียงได้มากขึ้น ความสามารถมันก็จะมากขึ้น”
“เรารู้สึกภูมิใจมากๆ กับการทำหน้าที่นี้ เหมือนว่าเราได้เป็นผู้ผลิตตัวบ้านตั้งแต่ต้นทาง เพราะเราเป็นคนเริ่มให้ข้อมูลต่างๆ ให้คนนำไปพัฒนาต่อได้ แล้วงานเบื้องหลังที่เราทำอยู่ เรารู้ว่ากระบวนการต่อไปมันจะทำอะไรต่อ เช่น ปกติเวลาเราถือถุงช้อปปิ้งกำลังจะเดินเข้าบ้านมา เราสามารถบอกได้ว่า ‘รู้ใจเปิดประตูให้หน่อย’ ระบบก็จะเปิดประตูให้โดยที่เราไม่ต้องวางถุงช้อปปิ้ง สิ่งที่เราทำมันก็ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”
“เราเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถและมีศักยภาพในตัวเอง อยู่ที่ว่าเราจะค้นหามันยังไง ค้นหามันเจอหรือเปล่า ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราเป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่นๆ “
“ขอบคุณโอกาสที่ SC ให้เราแสดงความสามารถ ทำให้เราไม่ได้รู้สึกไร้ค่า เพราะทางบริษัทเขาเห็นถึงศักยภาพของคนพิการ ไม่ใช่ว่าพิการแล้วจะทำงานไม่ได้ เพราะแม้สายตาเราจะมองไม่เห็นเท่าคนอื่น แต่เสียงของเราก็ทำให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”
4. ปุ้ย-ปัทมา ศรีทอง อายุ 32 ปี
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

“เราเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หน้าที่ของเราคือเป็นคนส่งบัตรจอดรถขาเข้า-รับบัตรจอดรถขาออก เราเริ่มต้นทำงานที่นี่เพราะคิดว่าใกล้กับที่พัก บริษัทเองก็ให้ผู้หญิงทำงานเฉพาะตอนกลางวัน เราก็เลยมองว่ามันปลอดภัย ที่นี่เขาดูแลเราดีทุกอย่าง เพื่อนร่วมงานในกลุ่มรปภ.ด้วยกัน เราก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานจนเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว เลยไม่อยากย้ายงานไปไหน อยู่ทีนี่เป็นปีที่ 10 แล้ว”
“งานเราที่เห็นนั่งอยู่เฉยๆ คอยแลกบัตร อยากบอกว่ามันก็ไม่ได้สบายนะ แต่ก็ไม่ได้ลำบาก เราต้องนั่งอยู่ในตู้สี่เหลี่ยม แต่ก็ยังดีที่มีแอร์ เราก็ไม่ร้อน แต่เรานั่งวันละ 12 ชั่วโมง มันก็ปวดเมื่อย บางทีไม่มีรถ เราปิดประตูบานเกล็ดแล้วก็ลุกขึ้นเต้นอยู่ในป้อมนั่นแหละ ยืดเส้นยืดสายไม่อย่างงั้นมันปวดหลัง”
“ถ้าพูดถึง รปภ. ชื่อก็ตรงตัวอยู่แล้วว่าคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คนส่วนใหญ่ก็จะไว้ใจผู้ชายมากกว่า เพราะดูเข้มแข็งกว่า แต่การเป็นรปภ.ผู้หญิงมันก็มีข้อดีตรงที่เราจะดูนิ่มนวลกว่า ยิ่มแย้มแจ่มใจ อ่อนโยนกว่า มันก็ทำให้ลูกค้าที่จะเข้ามาขอความช่วยเหลือหรือสอบถามรายละเอียดไม่เกร็งที่จะเข้ามาพูดคุย”
“เรารู้สึกภูมิใจนะ ที่ได้เป็นหน้าด่านที่ช่วยดูแลความปลอดภัย ให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานทุกคน และลูกค้าทุกคน ”
5. เพชร-ณปภัช ศรีชาติโสภณ
Contact Centre Manager ( ผู้จัดการฝ่าย Contact Centre )

“เราทำงานอยู่ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่าย Contact Centre ตอนนี้ก็บริหารจัดการทีม Contact Centre ทั้งหมด ไม่ว่าลูกค้าจะโทรเข้ามาด้วยเรื่องอะไร เรามีข้อมูลเตรียมพร้อมให้หมด ตั้งแต่ให้ข้อมูลการขายเป็นงาน Pre-Sale ก่อนจะนำความต้องการของลูกค้าเป็นข้อมูลไปให้เซลล์ทำงานได้ง่ายขึ้น รวมถึงงานหลังการขายสำหรับลูกบ้าน เราก็จะรับเรื่องประสานงาน พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขให้ลูกค้าในเบื้องต้นได้ เราไม่อยากให้ทีมเป็นแค่คนรับฟังแล้วส่งเรื่องประสานงานต่อให้ทีมช่างเพียงเท่านั้น”
“เรามีความเชื่อว่า Call Centre เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในองค์กรนะ ถึงแม้คนจะบอกว่าทุกหน้าที่มีความสำคัญหมดก็ตาม แต่ทุกแผนกจะพัฒนาได้ต้องมาจากเสียงของลูกค้า ทุกวันนี้โปรดักส์หลายๆ อย่างก็ได้รับการพัฒนามาจากเสียงของลูกค้าแทบทั้งนั้น”
“มีเสียงลูกค้าบอกมาว่า ‘ไม่มีใครหันหัวนอนไปทิศตะวันตก’ เขาเล่าให้เราฟังว่าชอบทุกอย่างในบ้านหมด ทั้งทำเล ขนาดบ้าน ทิศทางของลมที่เข้าบ้าน แต่ติดอย่างเดียวตรงที่ห้องนอนหัวหัวไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของคนตาย แล้วบ้านมันก็ออกแบบมาให้พร้อมอยู่ เฟอร์นิเจอร์ฟิกซ์ ปลั๊กไฟฟิกซ์ สายเคเบิ้ลที่อยู่ตรงทีวีก็ฟิกซ์ไว้ พอเราฟังเรื่องนี้ เราก็เลยมาเล่าให้ฝ่ายแบบบ้านฟัง ว่าถ้าปรับได้ เราก็อาจจะใช้โอกาสตรงนี้เป็นจุดแข็งของการขายบ้านเรา ที่ลูกค้าไม่ต้องมากังวลเรื่องฮวงจุ้ย เราดูให้จบในตัวแล้ว”
“ทุกวันนี้เรารู้สึกประสบความสำเร็จนะ ที่เราสามารถสร้างทีมที่เป็นต้นน้ำขององค์กรให้มาเจอกับลูกค้าแล้วช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ รู้สึกภูมิใจในทีม ภูมิใจในสิ่งที่เราทำให้กับองค์กร เราและทีมพร้อมเสมอที่จะรับฟังทุกเสียงของลูกค้ามาพัฒนาโปรดักส์ต่อไปได้”
Leave a Reply