เปิดลิสต์ 12 หนังรางวัล LGBTQIA+ สนุกหลากรส ดูได้ทุกเพศ

เข้าสู่ Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) SC Asset จึงรวมรวมหนัง LGBTQ+ ที่สนุก ครบรส ทั้ง ดราม่า คอมเมดี้ โรแมนติก Coming of age มิวสิคัล หนังชีวประวัติ ทั้งหนังไทยและต่างประเทศ รวมถึงยังเป็น 12 ลิสต์หนังได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ รับรองได้ว่าดูสนุกได้ทุกเพศแน่นอน

1.Farewell To My Concubine (1993)

สไตล์หนัง : ดราม่า มิวสิก โรแมนติก

หนังจีนคลาสสิกที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังเควียร์ในตำนาน ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 1993, รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม , British Academy Film Awards (BAFTA) สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมผลงานการกำกับของ เฉินข่ายเกอ ผู้กำกับชื่อดังที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นผลงานการแสดงที่น่าจดจำของ เลสลี่ จาง นักแสดงฮ่องกงชื่อดังผู้จากล่วงลับ

Farewell To My Concubine พาย้อนกลับไปในช่วงการเปลี่ยนผ่านของจีนในทศวรรษ 1920 ยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง เล่าเรื่องราวของ 2 นักแสดงชายในคณะงิ้วปักกิ่ง ‘โตวจื่อ’ ได้รับการฝึกในบทของนางสนม ส่วน ‘ซือโถว’ เพื่อนรุ่นพี่ที่ฝึกไปพร้อมๆ กัน รับบทเป็นท่านอ๋อง คนรักของนางสนม ทั้งคู่เติบโตมาพร้อมกันกับการเคี่ยวกรำการฝึกแสดงงิ้วตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ พร้อมกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

Happy Together (1997)

สไตล์หนัง : โรแมนติก ดราม่า

หนัง LGBTQ+ อีกหนึ่งเรื่องที่ขึ้นหิ้งตลอดกาล ผลงานการกำกับที่มีเอกลักษณ์โดนเด่นด้วยการดีไซน์ฉากที่ดึงความเหงาของตัวละครออกมาได้งดงามตามสไตล์ ‘หว่องกาไว’ หนังยาวลำดับที่ 6 ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติจากรางวัลปาล์มทองคำ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 1997

Happy Together เล่าเรื่องราวของคู่รักชายรักชาย ที่ตั้งใจเดินทางจากฮ่องกงเพื่อมาเที่ยวชมน้ำตกอีกวาซู ที่อาร์เจนตินา เพื่อใช้เวลาท่องเที่ยวร่วมกัน หนังพาไปสำรวจความสัมพันธ์ที่เปราะบาง ทั้งรัก ทั้งเกลียด ที่จะมีแต่พวกเขา 2 คนเท่านั้นที่จะเข้าใจ

สตรีเหล็ก (2000)

สไตล์หนัง : สร้างจากเรื่องจริง , กีฬา, คอมเมดี้

สตรีเหล็กสร้างมาจากเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลชายกลุ่มเพศทางเลือกทั้งทีมจากจังหวัดลำปาง ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ได้สำเร็จ นับเป็นหนังกีฬาเรื่องแรกๆ ของเมืองไทย ทั้งยังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กวาดรายได้ไปเกือบ 100 ล้าน และคว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 ไปครอง

ร่วมลุ้นและเอาใจช่วยทีมสตรีเหล็กให้ชนะการแข่งขันวอลล์บอล กีฬาที่พวกเขารัก พร้อมไปกับตามดูมิตรภาพที่มีให้กันได้ทุกเพศ เช่นเดียวกับความเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่าเพศไหนก็ล้วนสุข ทุกข์ และมีชีวิตจิตใจไม่ต่างกัน

Hedwig and the Angry Inch (2001)

สไตล์หนัง : มิวสิคัล คอมเมดี้ ดราม่า โรแมนติก

ส่วนผสมระหว่างกะเทยกับเพลงร็อกจะเป็นแบบไหน ?

Hedwig and the Angry Inch เรื่องราวของ Hedwig เด็กชายในเบอร์ลินตะวันออก ดินแดนคอมมิวนิสต์ที่ทำให้เขาไม่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกมาได้อย่างเปิดเผย แม้จะเข้าสู่การผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แต่การผ่าตัดก็ไม่สำเร็จทำให้เธอยังคงมีสัญลักษณ์ความเป็นชายไว้กับตัวเช่นเคย อันเป็นที่มาของชื่อวงร็อกของเธอ ‘Angry Inch’ แต่ในที่สุด Hedwig ก็เดินทางมายังดินแดนเสรีที่อเมริกาพร้อมตามหาความยุติธรรม จากแฟนหนุ่มที่ขโมยเพลงของเธอจนกลายเป็นร็อกสตาร์ มาร่วมลุ้นการเดินทางของเธอและวงร็อกสุดมันพร้อมการตามหาเพศสภาพของเธอไปด้วยกัน

นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและรางวัลผู้ชมที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2001 แล้ว ยังเป็นหนังที่มีเพลงเพราะมากๆ อีกหนึ่งเรื่องเลยล่ะ ชาวร็อกต้องชอบแน่นอน

Blue Gate Crossing ไต้หวัน (2002)

สไตล์หนัง : Comingofage, โรแมนติก

ภาพยนตร์ชื่อดังจากไต้หวันที่เล่าเรื่องราวของชีวิตวัยเรียนของวัยรุ่นมัธยมปลาย 2 สาวเพื่อนรักที่มีคนหนึ่งหวั่นไหว แต่อีกคนแอบชอบหนุ่มนักกีฬาว่ายน้ำสุดฮอต ส่วนเจ้าหนุ่มก็กลับไปหวั่นไหวไปกับเพื่อนที่แอบรักเพื่อน เรื่องราวความรักของวัยรุ่นทั้ง 3 จึงกลับตาลปัตร มาย้อนวัยกลับไปอินเลิฟ กลับไปตามหาตัวตนในวัยเปลี่ยนผ่าน คิดถึงมิตรภาพวัยเยาว์ให้ใจอุ่นพร้อมไปกับพวกเขาได้

Blue Gate Crossing ได้รับความสนใจจากตะวันตกจน ถูกเชิญให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

Brokeback Mountain (2005)

สไตล์หนัง : ดราม่า โรแมนติก

ถ้าจะพูดถึงหยัง LGBTQ+ แต่ไม่พูดถึง Brokeback Mountain มันไม่ถูกต้อง เพราะจะเรียกว่าเป็นหนังที่ทำให้ความรักชายรักชายเข้าไปอยู่ในใจทุกคนได้อย่างไม่ยากในช่วงเวลานั้น ผลงานการกำกับของอั้งลี่ ผู้กำกับชื่อดังของไต้หวัน และผลงานการแสดงที่ยอดเยี่ยมของเจค กิลเลนฮาล กับ ฮีธ เลดเจอร์ นักแสดงผู้ล่วงลับ จนคว้ารางวัลออสการ์ได้ทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เรื่องราวของ 2 คาวบอย ที่เจอกัน ณ ฟาร์มเลี้ยงแกะแห่งหนึ่งใกล้เทือกเขาโบร๊กแบ็ก จากมิตรภาพ ความใกล้ชิด ระยะเวลาที่ต้องอยู่ด้วยกันหลายเดือน จนก่อเกิดเป็นความรัก ก่อนที่พวกเขาจะแยกย้ายายกลับไปมีครอบครัว แต่ก็ไม่อาจลืมความรักที่เกิดขึ้นในหุบเขาเร้นรักแห่งนี้ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจกลับมาเจอกันอีกครั้ง

รักแห่งสยาม (2007)

สไตล์หนัง : ดราม่า มิวสิก โรแมนติก

เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากการหายตัวไปของลูกสาววัยรุ่น ความรักของวัยรุ่นที่ไม่ได้มีแค่เพียงความรักหญิงชายเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในเพศเดียวกันที่เติบโตมาด้วยกันและผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก รักแห่งสยามจึงไม่ได้ได้เป็นเพียงหนังรักวัยรุ่นทั่วไป แต่ยังเป็นหนังที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว การก้าวผ่านช่วงวัย การค้นพบเพศสภาพและตัวตนของวัยรุ่นได้อย่างกระทบใจคนในในช่วงเวลานั้นไปเต็มๆ

รักแห่งสยามภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสถาบันต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์), รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) จากรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 รวมถึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังไทยที่ส่งเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของรางวัลออสการ์อีกด้วย

Milk (2008)

สไตล์หนัง : สร้างจากเรื่องจริง ดราม่า

หนังชีวประวัติของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักต่อสู้ นักสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ชาวรักร่วมเพศ พร้อมตั้งคำถามให้สังคมมองเห็นคุณค่าในความหลากหลายของมนุษย์ เขายังเป็นนักการเมืองเกย์คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาที่ปรึกษาซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ความหลากหลายทางเพศถูกผลักดันให้ถูกพูดถึงในระดับกว้างในสังคมอเมริกันยุค 70

Milk คว้ารางวัลออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง

Blue is warmest color (2013)

สไตล์หนัง : โรแมนติก ดราม่า

หนังฝรั่งเศสความยาวกว่า 3 ชั่วโมงที่ดูไม่เบื่อ เรื่องราวของเด็กสาววัย 15 ปีที่ได้รู้จักกับแรงปรารถนาจากสาวผมฟ้าจนเกิดเป็นความรักที่เติบโตขึ้นในไปตามวัยจากวัยรุ่นวัยเรียนจนเธอโตเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงาน หนังค่อยๆ ถ่ายทอดความคิดที่เติบโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปของทั้ง 2 สาวออกมาได้อย่างงดงาม

Blue is warmest color คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และ Fipresci Prize ในปี 2013 

Carol (2015)

สไตล์หนัง : โรแมนติก ดราม่า

เรื่องราวความรักของผู้หญิง 2 คน ในนครนิวยอร์กปี ค.ศ. 1952 ที่มีความแตกต่างกันแทบทุกมิติของชีวิต ทั้งวัย ฐานะ และสถานะทางสังคม ระหว่างเสมียนสาวประจำห้างสรรพสินค้ากับสาวใหญ่ที่อยู่กับชีวิตแต่งงานโดยปราศจากความรัก

แม้จะรักกันแต่ความรักของพวกเธอเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมยุคนั้น

Carol เข้าชิง ลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 73 และได้รับการจัดอันดับจาก British Film Institute ให้เป็นภาพยนตร์ LGBT ที่ดีที่สุดตลอดกาล


Moonlight (2016)

สไตล์หนัง :ดราม่า

เรื่องราวชีวิตของ ชีรอน เด็กหนุ่มผิวดำคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนกับชีวิตที่เติบโตมาด้วยความยากลำบาก โดนเพื่อนรังแก มีแม่ติดยา สังคมอันธพาลและยาเสพติด บอกเล่าแบ่งเป็นสามช่วงวัย ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ที่มาพร้อมกับประสบการณ์และการค้นหาตัวตนจากทุกสิ่งที่แวดล้อมตัวเขา รวมถึงความรู้สึกส่วนลึกที่มีให้เพื่อนสนิทที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก

Moonlight หนัง LGBTQ+ เรื่องล่าสุดที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ (2017) หลังจากได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีลูกโลกทองคำ และกวาดรางวัลมาแล้วทุกเวที กว่า 130 รางวัล

Call me by your name (2017)

สไตล์หนัง : ดราม่า โรแมนติก

เรื่องราวของทุกฤดูร้อนของเด็กหนุ่มวัย 17 ที่อยู่ในเมืองเล็กๆ อันเงียบสงบในอิตาลี ที่ต้องสละห้องนอนให้กับแขกของพ่อมาพักในทุกๆ ปี จนมาถึงฤดูร้อนในปีหนึ่งเขาได้พบกับแขกของพ่อที่ต้องมาพักในห้องนอนเขาเหมือนเคย แต่กลับสร้างความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้นในใจเขาไปตลอดกาล Call me by your name กวาดรางวัลไปมากหมายจากหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็น รางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (2018), ก็อทแธม อวอร์ด สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บริติช อะคาเดมี่ ฟิล์ม อวอร์ดส์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ฯลฯ