มีนาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์สตรี (Women’s History Month) SC Sunblog ขอนำเสนอ 5 เรื่องราวของเหล่าหญิงสาวบนแผ่นฟิล์ม ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นผู้หญิงในทุกยุคทุกสมัย ที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจผู้หญิงได้ดียิ่งขึ้น
และยังเป็นภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย ได้รับความสนุกสนาน หรืออาจจะพบแรงบันดาลใจดี ๆ ที่จะช่วยให้เราได้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีพลังอีกครั้ง จะมีเรื่องอะไรกันบ้างเรามาดูกันครับ
Hidden Figures (2016)

ภาพยนตร์ชีวประวัติเล่าถึงเรื่องราวของ 3 สาวเพื่อนซี้ที่ได้เข้ามาทำงานอยู่ในองค์การ NASA กับยุคสงครามเย็นที่มีการแข่งขันพัฒนาด้านอวกาศระหว่างอเมริกาและรัสเซียอย่างดุเดือด โดยพวกเธอทั้งสามจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานที่หนักมากกว่าคนอื่น ๆ ที่จะต้องต่อสู้และฝ่าฟันในสังคมที่ยังคงมีการเหยียดผิวและแบ่งชนชั้น
แต่ปัญหาที่สาหัสกว่านั้นคือ การเป็น “ผู้หญิง” ของพวกเธอที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้ชายจำนวนมาก ทำให้พวกเธอต่างต้องเหนื่อยกับการทำงานที่มักจะถูกกีดกันบทบาทและไม่ให้แสดงถึงความสามารถของเธอเอง แม้แต่เรื่องการใช้ห้องน้ำที่ยังถูกแบ่งแยกจนต้องเหน็ดเหนื่อยในการวิ่งไปกลับระหว่างอาคารทำงานที่พวกเธอทำอยู่
ท้ายที่สุดพวกเธอก็ได้มีโอกาสแสดงความสามารถจนทำให้เหล่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายยอมรับในความสามารถของพวกเธอ หากคุณชอบภาพยนตร์แนวดราม่าที่ไม่เครียดมาก สนุกสนาน มีสีสัน บทประชันที่จัดจ้าน ไม่ควรพลาดเรื่องนี้เป็นอันขาด
The Help (2011)

การเกิดเป็นคนผิวสีแล้วถูกนำมาเป็นทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1963 เมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะกับกลุ่มสาวใช้ผิวสีในเรื่อง The Help ที่ต้องคอยทำงานให้กับเหล่าคุณนายผิวขาว โดยในยุคนั้นมีเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในรัฐนี้มีกฎหมายที่ใช้กับกลุ่มคนผิวสีค่อนข้างรุนแรง จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่าสาวใช้จำนวนมาก อีกทั้งต้องคอยถูกใช้งานอย่างไม่เป็นธรรมจากเหล่าคุณนายแม่บ้านบางกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะมีเจ้านายผิวขาวบางคนเห็นอกเห็นใจพวกเธอ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือทนแรงกดดันจากสังคมในขณะนั้นได้
สกีตเตอร์ จึงเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดมุมมองของสาวใช้ผิวสี ที่ถูกปฏิบัติอย่างอคติ กดขี่และเอาเปรียบเป็นอย่างมาก โดยภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตชาวแอฟริกัน-อเมริกันของยุคนั้นว่าการใช้ชีวิตในรัฐที่มีกฎหมายและสังคมที่กดขี่คนผิวสีนั้นไม่ง่าย แต่พวกเธอก็สู้ชีวิตคอยพึ่งพากันและในยามที่ยากลำบาก และยังมีมุมมองดี ๆ ที่แตกต่างจากเจ้านายอีกกลุ่มในรู้สึกอุ่นใจอยู่ไม่น้อย
Joy (2015)

ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องราวความสำเร็จของหญิงสาวนักประดิษฐ์อุปกรณ์อย่าง Joy Mangano ด้วยการถ่ายทอดมุมมองสะท้อนชีวิตของหญิงสาวที่ต้องสู้กับความยากลำบาก เพราะกว่าที่เธอจะมายืนในจุดนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่ายเลยสักนิด เพราะเธอต้องใช้ชีวิตที่เป็นทั้งแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว หลานสาว ในครอบครัวอลเวงที่คอยแต่จะสร้างปัญหาให้เธอรายวัน
ถึงแม้ว่าชีวิตของเธอจะต้องพบกับงานที่หนัก แต่เธอกลับไม่ทิ้งความฝันและพยายามที่จะคว้าความสำเร็จนั้นมาให้ได้ ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดถึงความพยายามต่อสู้ของชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องคอยเลี้ยงดูครอบครัวด้วยตัวคนเดียว ที่ดูค่อนข้างเรียลเฉกเช่นคนทั่ว ๆ ไปที่ต้องเจอกับปัญหาชีวิต
ท้ายที่สุดแล้วด้วยความพยายามของคน ๆ หนึ่งที่ไม่เคยลดละ ทำให้เธอได้พบกับความสำเร็จที่อยู่ปลายทาง โดยเฉพาะฉากจำในภาพยนตร์ที่ Joy จะต้องไปขายไม้ม็อบในรายการทีวีขายสินค้าที่ไม่ควรพลาด
Little Women (2019)

ในอดีต ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด ผู้หญิง มักจะถูกตีกรอบจากคนในสังคมมาโดยตลอดว่าจะต้องเป็นแบบที่สังคมกำหนดเอาไว้ เมื่อโตขึ้นต้องลงเอยด้วยการแต่งงานกับชายที่มีฐานะดีโปรไฟล์เริ่ด อย่างในเรื่อง Little Woman ที่ถูกเล่าผ่านมุมมองตัวละครอย่าง โจ ที่เติบโตมาในบ้านพร้อมกับน้องสาวอีก 3 คน ต่างคนต่างมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่จะต้องต่อสู้กับกรอบของสังคมในยุคนั้นที่วัดคุณค่าและความสำเร็จของผู้หญิงด้วยการแต่งงานและมีสามี
ในส่วนของโจที่ต้องการหลุดออกจากกรอบเพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าการแต่งงานไม่ใช่สิ่งที่ประสบความสำเร็จของผู้หญิงเสมอไป และยังทำให้ทุกคนรู้ว่า ผู้หญิง ก็เป็นคน ๆ หนึ่งเหมือนกับผู้ชายทั่วไป ที่มีความต้องการอยากทำในสิ่งที่ชอบ ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง และมีอิสระเช่นเดียวกัน
Little Woman ดัดแปลงมาจากผลงานวรรณกรรมระดับโลกของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ในปี 1868 มาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันที่สิทธิสตรีได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่
Kim Ji-young: Born 1982 (2019)

สำหรับใครที่เป็นแฟนหนังแดนกิมจิหรือติดตามซีรีส์เกาหลีมาตลอด เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจกันดีว่า ในสังคมของเกาหลีไม่ว่าจะเป็นยุคปัจจุบันหรืออดีต ผู้หญิง ก็มักจะถูกกดขี่จากสังคมชายเป็นใหญ่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในแวดวงการทำงานของประเทศเกาหลีใต้ มักจะให้ความสัมพันธ์กับเพศชาย เป็นหลัก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน
ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากตำแหน่งหน้าที่การงานในบริษัท ผู้ชาย มักจะเป็นตัวเลือกแรกที่รับโอกาสก่อนเสมอ เพราะผู้ชายส่วนใหญ่มักจะมองผู้หญิงเป็นเพียงแค่ บทบาทการเป็นแม่และภรรยาเท่านั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าคิมจียอง จะเป็นผู้หญิงที่เก่งในบทบาทไหนก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมภายนอก เมื่อต้องถูกสังคมคอยตีกรอบก็ยากเกินกว่าที่เธอจะทำลายและต้านทาน
หากมองดูจากภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องแล้วจะพบว่า ผู้หญิง มักจะถูกกำหนดให้เป็นเพียงบุคคลที่มีค่า เวลาที่ออกเรือนหรือแต่งงานเพื่อเป็นหน้าเป็นตา ทำหน้าคอยดูแลสามีและลูกเพียงเท่านั้น และเมื่อยุคสมัยที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป
แม้กระทั่งในปัจจุบัน อาจจะเห็นได้ว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทและได้ใช้ชีวิตในแบบของตนเองที่ต้องการ แต่ก็ยังคงจะต้องพบเจอกับระบบที่เรียกว่า สังคมชายเป็นใหญ่ อยู่เสมอ และหวังว่าสิ่งที่ถูกนำเสนอและถ่ายทอดจากภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องนี้ จะทำให้เราได้เข้าใจผู้หญิง เปิดมุมมองใหม่ ๆ และสร้างชุดความคิดที่ดีต่อผู้หญิงมากขึ้น
หวังว่าสักวันหนึ่ง เสียงของผู้หยิงจะดังเท่าเทียมเสียงของผู้ชาย และได้เห็นคุณค่าของความเป็นหญิงในทุก ๆ บทบาทที่ไม่ได้วัดค่าจากการแต่งงานเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
Leave a Reply