สรุป 8 มาตรการ เยียวยาแรงงาน ลูกจ้าง และอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 และอยู่นอกประกันสังคม

สรุป 8 มาตรการ เยียวยาแรงงาน ลูกจ้าง และอาชีพอิสระ

ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 และอยู่นอกประกันสังคม

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 นั้น ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหลายหน่วยงาน รวมไปถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ช่วงนี้เราจึงได้เห็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่ต่างออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ และเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีเองก็มีมติเห็นชอบเรื่องมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมาตรการตัวนี้จะเยียวยากลุ่มแรงงานที่อยู่นอกเหนือประกันสังคม เราลองไปดูกันครับว่ามีอะไรกันบ้าง

สนับสนุนเงินรายละ 5,000 บาท/เดือน

สำหรับมาตรการข้อแรกนี้เรียกได้ว่าเป็นชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มจากเดือน เม.ย. – มิ.ย. แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ เนื่องจากบางคนต้องหยุดประกอบอาชีพหรือกิจการชั่วคราวเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 นั่นเองครับ

ให้สินเชื่อฉุกเฉินไม่เกิน 10,000 บาท/ราย ดอกเบี้ยต่ำ 0.10% ต่อเดือน

ปกติแล้วในการขอสินเชื่อแต่ละครั้ง สิ่งที่หลายคนรู้ดีก็คือการยื่นหลักประกัน โดยเฉพาะสินเชื่อฉุกเฉิน แต่สำหรับมาตรการตัวนี้จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้โดยเฉพาะครับ โดยการยื่นขอสินเชื่อฉุกเฉินนั้นไม่ต้องมีหลักประกัน และสามารถยื่นขอต่อรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งการยื่นคำขอสินเชื่อนี้สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ครับ

ให้สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม 50,000 บาท/ราย

มาต่อกันที่เรื่องสินเชื่อเหมือนเดิมครับ ซึ่งมาตรการข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่มีรายได้ประจำโดยและมีหลักประกันวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี สามารถยื่นคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ธนาคารออมสินครับ

ปรับอัตราดอกเบี้ยรับจำนำลงไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

ในสถานการณ์เช่นนี้ หลายคนเลือกที่จะนำสินทรัพทย์ส่วนตัวเข้าโรงจำนำกันเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีมาตรการช่วยเหลือเข้ามาเกี่ยวกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่โรงรับจำนำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2,000 ล้าน ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10% ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 ปีครับ

ยืดเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงสิ้นเดือน ส.ค. 63

มาต่อกันที่เรื่องของภาษีกันบ้างครับ อย่างที่เราทราบกันว่าทุกช่วงต้นปีจะต้องมีการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทยเราทำให้มีนโยบายเลื่อนการยื่นครั้งแรกออกไปเป็นเดือน มิ.ย. และเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ขึ้นจึงมีการเคาะมาตรการช่วยเหลือออกมาอีกครั้ง โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2563

ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์

และนอกจากจะมีการเลื่อนการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปแล้ว ยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนย่อมรู้กันดีว่าบุคคลที่ทำงานหนักสำหรับสถานการณ์นี้และถือว่ามีความเสียสละเป็นอย่างยิ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์นั่นเองครับ ซึ่งในส่วนของค่าตอบแทนนั้นประกอบไปด้วย…

  1. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID – 19
  2. ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563

เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพเป็น 25,000 บาท

มาต่อกันที่การเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพกันบ้างครับ ซึ่งจากเดิมนั้นจะยึดตามการจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่มาตรการเยียวยานี้มีการปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไปครับ

จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ

สุดท้ายนี้เป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะครับ ซึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนาอาชีพก็คือการเรียนรู้ ฝึก และอบรมนั่นเองครับ ซึ่งมาตรการเกี่ยวกับความช่วยเหลือในเรื่องของการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบถือเป็นอีกมาตรการที่ดี ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยเหลือผู้ที่ประกอบอาชีพแล้วได้รับผลกระทบเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการขยายเครือข่ายฝึกอบรม เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือจะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้นครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับ 8 มาตรการเยียวยาที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งการช่วยเหลือในครั้งนี้มีทั้งการเพิ่มสภาพคล่อง ลดภาระ และเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 และทาง SC Asset เองก็ขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกๆ คนผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปด้วยกันครับ