ใครควรกักตัวแบบ Home Isolation รวมวิธีการที่ถูกต้อง

Home Isolation คือการกักตัวที่บ้านที่กระทรวงสาธารณะสุขแนะนำให้สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว คือแบบไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อยช่วยลดความเสี่ยงของการเดินทางออกจากบ้าน และเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงยิ่งกว่า ต้องมีอาการแบบไหนถึงจะทำการ Home Isolation และควรปฏิบัตอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ความหมายของ Home Isolation

Home Isolation คือการดูแลตัวเองจากที่บ้านโดยจะดำเนินการก็ต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ เพื่อเป็นการสังเกตอาการและควบคุมไม่ให้แพร่ไปสู่ผู้อื่น

เกณฑ์การกักตัวแบบ Home Isolation

  • สำหรับคนที่มีอาการโควิด-19 ซึ่ง กลุ่มสีเขียว อาการน้อย ไม่แสดงอาการ
  • ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอแอดมิด รอเตียงเพื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่หายจากการป่วยแล้ว แล้วแพทย์พิจารณาเพิ่มให้กักตัวด้วยการทำ Home Isolation ต่อเป็นระยะเวลาหนึ่ง
  • มีสภาพแวดล้อมของบ้านที่พร้อม เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ แยกจากการใช้งานของคนภายในบ้าน
  • เป็นผู้ป่วยที่แม้จะมีโรคประจำตัวก็สามารถควบคุมโรคได้
  • ยกเว้นผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือก โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ประจำโรค

ควรปฏิบัติอย่างไร

  1. แยกพื้นที่ห้อง สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 แบบกลุ่มสีเขียว หรือคนที่คิดว่าอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ ควรแยกพื้นที่ห้องกับคนในครอบครัวให้ชัดเจน มีห้องส่วนตัว ทั้งห้องนอนและห้องน้ำ เพื่อให้เชื้อไวรัสไม่กระจายไปสู่ผู้อื่นที่อาศัยในที่เดียวกัน
  1. ไม่ใช่สิ่งของร่วมกับคนอื่นในครอบครัว ควรแยกสิ่งของที่ใช้ชัดเจน จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ขวดน้ำ รวมถึงการซักล้างก็ควรแยกกับสมาชิกคนอื่นๆ ภายในบ้านด้วย
  1. ไม่ออกจากห้องเด็ดขาด หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรออกจากห้องนอนส่วนตัวเองเป็นอันขาด ก็เพื่อกักเชื้อไวรัสให้ไม่กระจายไปสู่บริเวณอื่นๆ ของบ้าน แต่หากมีความจำเป็นต้องสวม หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่ควรหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งใดที่อยู่ในพื้นที่ส่วนรวม
  1. เว้นระยะห่าง บางครั้งผู้ป่วยที่ทำการ Home Isolation อาจจะต้องมีกิจออกจากห้อง เพื่อทำธุระส่วนตัว เช่น ซักผ้า แยกขยะ ฯลฯ จึงควรเลือกเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้าน หรือเว้นระยะห่างจากกัน เพื่อไม่ให้สัมผัสหรือรับเชื้อที่อาจแพร่กระจายได้
  1. แยกขยะติดเชื้อให้ชัดเจน หนึ่งในสิ่งที่คนอาจจะไม่คำนึงถึงคือขยะติดเชื้อที่ควรแยกให้ชัดเจน ใส่ถุงขยะเขียนบอกว่าเป็นขยะอะไร เพื่อให้พนักงานเก็บขยะปลอดภัยจากเชื้อไวรัส รวมทั้งจะได้กำจัดขยะอย่างถูกต้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นขยะหน้ากากอนามัย ขยะแพ็กเก็จจากอาหาร  เดลิเวอรี่ ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ

จะเห็นว่าการทำ Home Isolation ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แต่พื้นที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงมีเชื้อโรคจะกักตัวเอง ออกห่างจากผู้อื่นและรอให้อาการดีขึ้นและหายดีในที่สุด แต่หากพื้นที่พักอาศัยของคุณเป็นคอนโดหรือบ้านที่มีสมาชิกอยู่เยอะ อาจจะปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอาการ หรือกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อจัดสรรพื้นที่บ้านให้เหมาะกับคนที่จะ Home Isolation ได้