#BreakTheBias 5 มุมมองเรื่องงาน จากพนักงาน 5 อาชีพ ของ SC Asset เนื่องในวัน International Women’s Day

‘งานช่างเป็นเรื่องของผู้ชาย’

‘เป็นผู้หญิงจะทำอาชีพวิศวกรได้ไง’

‘รปภ.ผู้หญิงคงดูแลความปลอดภัยให้เราไม่ได้มากหรอก’

แม้โลกจะก้าวเข้าสู่ปี 2022 แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งบางคนก็ยังมีภาพจำว่าอาชีพหลายๆ อย่างไม่ใช่งานของผู้หญิง!

เนื่องในวันสตรีสากล SC Asset ร่วมกับ CONT. เพจที่รวมเรื่องราว Lifestyle รอบตัวในเครือ Salmon Books ชวน 5 พนักงานหญิงของ SC Asset มาพูดคุยถึงการทำงานว่าเพศเป็นอุปสรรคในการทำงานเหล่านั้นหรือไม่ และเหตุผลใดพวกเธอยังคงชอบทำงานเหล่านี้แม้ใคร ๆ ยังยึดติดกับภาพจำของประเภทงานต่าง ๆ เข้ากับเพศ

ติดตามอ่านเบื้องลึกที่อาจทำให้คุณได้เห็นมุมมองใหม่จากผู้หญิงทั้ง 5 คน ได้ในบทความนี้ และ Break The Bias ไปด้วยกันครับ

พัชรพร ทองรัตน์

ตำแหน่ง: Service Improvement Specialist

แผนก: IT

“เราเคยมองว่างาน IT เป็นงานที่เหมาะกับผู้ชาย เพราะคิดว่าต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นหลัก และผู้ชายก็มักเลือกเรียนสายวิชานี้กันเป็นส่วนใหญ่

“ตอนมาทำงานที่นี่คือผู้ชายเยอะมาก ผู้หญิงเป็นเหมือนชนกลุ่มน้อย แต่การเป็นผู้หญิงของเราไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย คนที่นี่มองกันตรงจุดแข็งที่แตกต่างกันของแต่ละคนมากกว่า คนในทีมยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไว้ใจให้แต่ละคนทำงานของตัวเองเต็มที่ 

“เราไม่ได้เรียนจบสายนี้มา แต่บริษัทก็เปิดกว้าง ให้โอกาสทำงาน ทุกๆ คนในทีมทำให้เราได้ลองผิดลองถูก ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ให้คำแนะนำไปปรับปรุงต่อยอดและพัฒนางาน ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวนึง ที่ทำให้ทีมสมบูรณ์

“เรามองว่าการทำงานนอกจากความรักความชอบในอาชีพแล้ว มันต้องใช้ความอดทนด้วย อะไรที่ไม่รู้ก็เรียนรู้ ไม่ใช่ว่าเราเรียนจบมาเท่านี้ เรารู้เท่านี้ แต่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลามันถึงจะเกิดการพัฒนา เมื่อได้โอกาสมาก็ต้องทำให้ดีที่สุด 

“ปีที่ผ่านมาเราได้รับโอกาสให้เป็น Project Owner (Project Manager) เป็นงานที่ค่อนข้างหนักสำหรับเรา เพราะในทีมเป็นชายล้วน แถมมีตำแหน่งสูงกว่าเรา แต่เราก็มองว่าการที่เรามาดูแลส่วนนี้ เราไม่ได้มานำเขา แต่เรามีหน้าที่คอยเสริมเขามากกว่า มันคือการดูจุดแข็งของแต่ละคนแล้วเดินไปด้วยกัน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะอายุน้อยกว่า ตำแหน่งน้อยกว่า แต่ทุกคนก็ยอมรับ ให้เกียรติ ทำให้เราเข็มแข็งขึ้นและก้าวข้ามคำว่าเพศไป นี่คือความโชคดีที่เรามีทีมที่พยายามจะช่วยเหลืออยู่ตลอด 

“ทำให้รู้ว่าคนคนเดียวไม่สามารถทำให้ทีมก้าวไปข้างหน้าได้ แต่มันคือทีมต่างหากที่มีส่วนช่วยให้งานต่างๆ ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น”

นพมาศ อนุพันธ์

ตำแหน่ง: Community Manager

แผนก: SC ABLE

“ตำแหน่งของเราจะคล้ายๆ กับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นงานดูแลหลังการขาย ได้แก่ ส่วนกลางของหมู่บ้าน ไฟฟ้า ประปา ถนน และต้องดูแลในส่วนของงานซ่อมด้วย

“เราไม่เคยสัมผัสกับงานซ่อมมาก่อนเลย ความรู้เรื่องช่างมีน้อยมาก ตอนทำงานที่บริษัทก่อนหน้าก็ไม่เคยต้องดูแลส่วนนี้ เราเลยมองว่างานช่างยังไงก็ต้องเป็นงานของผู้ชาย ผู้หญิงอย่างเราไม่น่าจะมีบทบาทหรือเข้าไปทำงานนี้ได้ขนาดนั้น

“แต่พอมาทำงานที่นี่ ได้ลองเรียนรู้ไปทุกวันก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่างานนี้ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เหมือนมีความรู้ใหม่ๆ ให้เราศึกษาทุกวัน แรกๆ เราก็พยายามสอบถามจากพี่ๆ ช่าง เข้าไปคุยกับเขาเยอะๆ เวลาไปดูหน้างานก็คอยถามว่าปัญหานี้เป็นยังไง ต้องซ่อมด้วยวิธีไหน ทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น เราจะได้มีความรู้ติดตัว เผื่อต้องเข้าไปบ้านลูกค้าคนเดียว ไม่มีช่างไปด้วย เราจะได้อธิบายลูกค้าได้ 

“เราโชคดีมากที่มีพี่ๆ ในทีมคอยซัพพอร์ต ทีมช่างเขาให้ความรู้ดีมาก ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำอย่างดี ไม่ทำให้รู้สึกว่าผู้หญิงทำงานช่างไม่ได้ 

“เรื่องเพศเลยไม่เคยเป็นอุปสรรคกับการทำงาน เพราะที่บริษัทเปิดกว้างมาก วัฒนธรรมองค์กรที่นี่ดีมาก คำว่าเท่าเทียมคือใช่เลย ไม่มีการแบ่งว่าใครเป็นเพศอะไร สังกัดบริษัทไหน ให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้เต็มที่

“ที่นี่ทำให้เรากล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เชื่อว่าไม่มีอะไรยากเกินที่จะทำได้ เราเลยไม่มีความคิดว่าตำแหน่งนี้ผู้หญิงทำไม่ได้หรอกอีกต่อไป” 

มุทิตา ทวีศักดิ์

ตำแหน่ง: Contact Centre Officer

แผนก: Contact Centre

“ก่อนจะมาทำงานนี้ ตอนเด็กๆ เรามีภาพจำว่าคอลเซ็นเตอร์มีหน้าที่แค่รับโทรศัพท์ แล้วตอบตามที่เขาถามมาเฉยๆ แต่พอมาทำจริงถึงได้รู้ว่าการถามมา-ตอบไป แล้วจบงานมีน้อยมาก 

“สโคปงานของเรามีทั้งให้ข้อมูลเบื้องต้นกับลูกค้าที่สนใจโครงการ รับเรื่องลูกค้าในโครงการเวลาเจอเรื่องฉุกเฉิน รับเรื่องเกี่ยวกับบริการสาธารณูปโภคต่างๆ และต้องดูแลโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง รวมถึงเป็นแอดมินรู้ใจด้วย

“สิ่งที่จำเป็นต้องมีเลยคือสกิลการสื่อสาร ประสานงาน เราต้องฟังลูกค้าแล้วจับใจความ สรุปประเด็นสำคัญให้ได้ ต้องประสานงานให้หน้างานรับทราบและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกับที่เราเข้าใจด้วย หรือถ้าลูกค้าบางท่านมาด้วยอารมณ์ เราก็ต้องรับมือ ใช้คำพูดให้เขาใจเย็นลง

“งานคอลเซนเตอร์เป็นงานที่คนไม่ค่อยเปิดใจมาทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศแบบเราก็ได้ แต่โดยปกติคนทั่วไปถ้าเลือกได้เขาก็ไม่อยากมาทำตรงนี้ เพราะเป็นการสื่อสารที่ต้องสร้างความเข้าใจกับลูกค้า ซึ่งน้อยมากที่จะโทรเข้ามาชม แต่จะนับว่าเป็นเรื่องดีก็ได้ที่แม้เนื้องานจะเป็นแบบนั้น หากบรรยากาศการทำงานโดยรวม พี่ๆ และเพื่อนร่วมงานไม่เคยเก็บมาเป็นความเครียด ความกดดันในทีมเลย การทำงานจึงผ่อนคลายและสนุกสนานมาก 

“สภาพแวดล้อมการทำงานก็ไม่มีใครมามองว่าเราเป็นเพศนี้แล้วจะทำไม่ได้ หรือเป็นเรื่องยากในการทำ เขาไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัด ไม่เคยบอกว่าถ้าเราเป็นทอมแล้วติดพูดครับ เราจะพูดแบบนั้นไม่ได้นะ เขาเคารพว่าเราควรรู้อยู่แล้ว ว่าเวลาทำงานต้องทำตัวยังไง 

“เราเป็นคนให้ความสำคัญเกี่ยวกับสังคมในการทำงานมาก เพราะเรามีความรู้สึกว่าถ้าสังคมไหนไม่เปิดรับเรา ต่อให้เขาไม่พูดตรงๆ ออกมา เราก็รับรู้ได้ และถ้าเป็นแบบนั้นมันคงทำให้เรารู้สึกไม่อยากทำงานด้วย แต่ถ้าได้อยู่ในสังคมที่เอื้ออำนวยให้อยากทำงาน ต่อให้งานหนักแค่ไหนเราก็ทำได้ มันคือคำที่หลายๆ คนบอกเลยคือ คับที่มันอยู่ได้ คับใจมันอยู่ยาก 

“ความเท่าเทียมเลยเป็นองค์ประกอบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเลือกที่ทำงานของเรา การที่ไม่มีใครมาตัดสิน กดดัน หรือเครียดกับความเป็นเรา เลยทำให้เราทำงานได้ลื่นไหลมากขึ้น”

ณิยวรรณ ทิพย์ประชา

ตำแหน่ง: Engineering Manager – Low Rise

แผนก: PDL (พัฒนาโครงการแนวราบ)

“คงเหมือนกับที่หลายๆ คนมอง คือมองว่าวิศวกรโยธาต้องอยู่กลางแดด อยู่หน้างาน คุมคนงาน ความคิดก่อนหน้านี้ของเราก็ประมาณนั้น แต่พอเราได้เข้ามาเรียน มาศึกษา ถึงได้รู้ว่าสายอาชีพนี้มันมีทางไปได้เยอะมาก ไม่จำเป็นต้องอยู่หน้างานเสมอไป สามารถเบนไปสายวิชาการเป็นคนออกแบบในตึกแล้วส่งแบบให้เพื่อนหน้างานก็ได้ งานมันหลากหลายมาก ภาพจำที่เรามีต่ออาชีพนี้เลยค่อยๆ เปลี่ยนไป 

“พวกความคิดว่าเป็นผู้หญิงทำอาชีพนี้ไม่ได้หรอก เราก็เคยเจอกับตัวเองนะ มันเหมือนเวลาผู้หญิงขับรถไม่ดี เขายังไม่เห็นเลยว่าใครขับ เขาก็จะบอกว่านี่ไง ผู้หญิงขับแน่เลยแบบนี้ เรามักจะโดนไบแอสว่าถ้าเป็นผู้หญิงมาทำอาชีพนี้ก็จะด้อยกว่าผู้ชายนิดนึง แต่เรื่องแบบนี้เราไปเปลี่ยนความคิดใครไม่ได้ ก็ได้แต่ใช้เวลา ใช้ประสบการณ์ของเรา ทำให้เห็นว่าเราสามารถทำงานนี้ได้ 

“มองอีกมุม ความคิดพวกนี้ก็เป็นเหมือนแรงผลักดันทำให้เราอยากจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วย 

“แต่กับการทำงานที่นี่ เราว่าเป็นส่วนน้อยมากเลยที่คนจะมีความคิดไบแอสเรื่องเพศ ไซต์งานแต่ละไซต์ค่อนข้างให้เกียรติ เกรงใจ และถึงมีเราก็ไม่ได้จับจุดนั้นมาใส่ใจอีกต่อไปแล้ว เพราะเรามองว่าเพศไม่เกี่ยวกับการทำงานจริงๆ”

จินดา ทิยาโน

ตำแหน่ง: รักษาความปลอดภัย

แผนก: สังกัดรักษาความปลอดภัย

“เราเป็นพนักงานแจกบัตรในสังกัดของอาคารความปลอดภัย ในบูธขาเข้า-ขาออกของหมู่บ้าน คนอาจมองว่าอาชีพนี้ไม่ค่อยสำคัญ แต่สำหรับเราก็มองว่างานตรงนี้ก็ดีนะ พูดจากใจเลยว่าเรารักการทำงานแบบนี้ ชอบที่ได้อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า บางทีเวลาเขามาสอบถามเส้นทางแล้วเราสามารถตอบได้ มีคำทักทายดีๆ ให้กัน มันก็เป็นความสุขในการทำงานแต่ละวัน 

“เรามองว่าอาชีพทุกอาชีพนั้นเท่าเทียมกัน ผู้หญิงผู้ชายก็เท่าเทียมกัน เป็น รปภ.ผู้หญิงก็ทำงานได้ไม่แพ้ รปภ.ผู้ชาย เราทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่เกรงกลัว กล้าเข้าหาขอความช่วยเหลือ ช่วยดูแลความปลอดภัยได้ด้วย เพราะพอเราเป็นผู้หญิงเราก็จะค้นตัวผู้หญิงได้ดีกว่า เขาจะรู้สึกดีกว่าให้ผู้ชายมาค้นตัวเขา

“ที่นี่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังนึงของเรา รายได้เรามาจากตรงนี้ เรามีรายได้จุนเจือครอบครัวก็เพราะทำงานนี้ ทำงานทุกวันก็คิดว่าเราบริการด้วยความจริงใจ และคงจะได้รับความจริงใจกลับมาเหมือนกัน เราบริการเขาเต็มที่ เขาก็คงจะไม่มาแบ่งแยก คงจะมองว่าอาชีพเราก็เท่าเทียมกับอาชีพอื่น” 

#SCASSET #ForGoodMornings

#SCที่ทำงานในฝัน #วันสตรีสากล #BreakTheBias #InternationalWomensDay2022 #CONT