ชวนทำความรู้จักนักออกแบบหญิงสร้างชื่อ พร้อมแนวความคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ

ในแวดวงของงานด้านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ แฟชั่น สถาปัตยกรรม ฯลฯ ล้วนต่างมีเอกลักษณ์และเรื่องราวที่เหล่านักออกแบบต้องการเล่าเรื่องหรือนำเสนอ ยิ่งในยุคใหม่ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม งานออกแบบจึงเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่สามารถนำเสนอสิ่งเหล่านี้ผ่านการสร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยเฉพาะในงานสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นสากล เข้าถึงง่าย และอยู่คงนานจากรุ่นสู่รุ่น

เนื่องในวันสตรีสากล เป็นประจำช่วงเดือนมีนาคมนี้ SC Sunblog จะพาไปสำรวจแนวความคิดของเหล่านักออกแบบหญิงชื่อดัง ทั้งสถาปนิก มัณฑนากร และดีไซเนอร์ ที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคน จะมีใครบ้าง ไปดูกัน

Zaha Hadid

นักสถาปนิกชื่อดังที่หลายคนต่างยกให้เป็นตัวแม่ในวงการสถาปัตยกรรม ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทำให้เธอกลายเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกที่ได้รับ Pritzker Award ในปี 2004 ซึ่งความโดดเด่นในผลงานของเธอคือการใช้ความโค้งและเส้นสายใส่ลงไปในชิ้นงานได้อย่างน่าทึ่ง หลุดออกจากกรอบสี่เหลี่ยมแบบเดิม ๆ จนทำให้เธอได้รับขานนามว่า “ราชินีแห่งเส้นโค้ง” ผู้ปลดปล่อยเรขาคณิตในทางสถาปัตยกรรม และให้อัตลักษณ์เชิงแสดงออกใหม่ทั้งหมด

ถึงแม้ว่าความสำเร็จของเธอจะเรียกได้ว่าอยู่จุดสูงสุดในวงการสถาปนิก โดยเฉพาะในงานด้านการออกแบบแนว Futuristic แต่เธอก็ยังคงสเกตภาพเพื่อหาแรงบันดาลใจในการออกแบบต่อไป เหมือนกับคำสัมภาษณ์ของเธอจาก designboom ที่แนะนำให้กับเด็กรุ่นใหม่เอาไว้ว่า “ในการทำงาน คุณต้องมีสมาธิและทุ่มเทหนักมาก แต่คุณจะต้องมีเป้าหมายจริงจัง ถึงแม้ว่าเสาประตูอาจเปลี่ยนไป แต่คุณควรมีเป้าหมาย และรู้ว่าคุณกำลังพยายามค้นหาอะไรอยู่”

Amanda Levete

สถาปนิกหญิงที่เป็นอีกหนึ่งในผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้งานสถาปัตยกรรมของโลก ผู้ได้รับรางวัล Stirling Prize จาก Royal Institute of British Architects ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลสถาปัตยกรรมสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร เธอได้สร้างอาคารที่แปลกใหม่ที่โด่งดังอยู่ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือศูนย์การค้า Central Embassy และเธอเคยยังให้สัมภาษณ์กับ The Wick เมื่อปี 2022 เอาไว้ว่า “ฉันภูมิใจในทุกโครงการของเรา แม้แต่โครงการที่ไม่เคยสร้างมาก่อน ผลงานที่ดีที่สุดของเราคือการแข่งขันที่เราแพ้ แต่ถ้าคุณมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของละครของคุณ คุณก็จะกอบกู้ความสำเร็จจากความพ่ายแพ้ได้ เพราะความสำเร็จไม่ได้มาจากสิ่งที่คุณสร้าง แต่มาจากสิ่งที่คุณจินตนาการต่างหาก”

นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ดูแลศูนย์นวัตกรรมทางสังคมชั้นนำ The Young Foundation และทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล Artangel องค์กรศิลปะที่ทรงอิทธิพลมากว่าทศวรรษ เป็นผู้จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ เขียนบทความให้กับสิ่งพิมพ์หลายฉบับ รวมถึง New Statesman and Prospect และบรรยายทั่วโลกอีกด้วย

Kazuyo Sejima

หากพูดถึงสถาปนิกจากฝั่งเอเชียที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก คงหนีไม่พ้น Kazuyo Sejima ผู้ซึ่งมีผลงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่าย สะอาดตา และดูทันสมัย เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปัตยกรรม SANAA ร่วมกับ Ryue Nishizawa ซึ่งทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันในโครงการออกแบบหลายโครงการ อีกทั้งได้รับรางวัลหลายรางวัลในญี่ปุ่นและระดับนานาชาติ รวมถึง Pritzker Architecture Prize, Rolf Schock Visual Arts Prize และ Golden Lion ในหมวดนิทรรศการที่ Venice Biennale of Architecture อีกด้วย

ด้วยผลงานที่มีสไตล์ในแบบฉบับของเธอ ทำให้เธอได้เดินทางและมีผลงานให้ได้ชื่นชมกันทั่ว โดยในปี 2010 เธอเคยให้สัมภาษณ์กับทาง The Gentle Woman เอาไว้ว่า “ฉันมีความฝันว่าสถาปัตยกรรมจะนำบางสิ่งบางอย่างมาสู่สังคมร่วมสมัย สถาปัตยกรรมคือวิธีที่ผู้คนพบกันในอวกาศ ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูเพ้อเจ้อและเพ้อฝัน แต่ถ้าหากเราได้พิจารณางานเหล่านี้ เราก็จะมองเห็นความงดงาม ความแข็งแกร่งและการใช้งานได้จริง พอ ๆ กับที่มันดูเหมือนเปราะบางและลอยได้ในแวบแรก”

Anna Heringer

            แอนนาเป็นสถาปนิกหลักของ Studio Anna Heringer บริษัทของเธอที่ตั้งอยู่ใน Laufen ประเทศเยอรมนี เธอได้รับการยอมรับจากจากคนในแวดวงกับบทบาทสำคัญในสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ รวมถึงการมีมุมมองของการให้บริการชุมชนที่ได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของเธอ ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เธอมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะคำนึงถึงวัสดุและทรัพยากรที่เข้าถึงได้ในท้องถิ่น เพราะเธอเชื่อว่า “สถาปัตยกรรมคือเครื่องมือในการพัฒนาชีวิต”

            จากผลงานของเธอจะเห็นได้ว่า สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต การออกแบบ และศิลปะของ Anna Heringer นั้นล้วนใช้เวลาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อมั่นในภูมิปัญญาและของดีจากท้องถิ่น ซึ่งเธอเองก็เคยให้สัมภาษณ์ที่ dezeen ในปี 2022 เอาไว้ว่า “บางสิ่งต้องกลมกลืน ไม่เฉพาะกับสภาพแวดล้อมหรือในเมืองเท่านั้น แต่ต้องมีมากกว่านั้น ด้วยสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มันไปไกลกว่าความกลมกลืนทางสายตา และผู้คนก็รู้สึกเช่นนี้”

Brigette Romanek

เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านการออกแบบภายในรุ่นใหม่ที่โด่งดังที่สุดของลอสแองเจลิส ผลงานแรกของเธอนั้นเริ่มต้นขึ้นจากความโปรดปรานของเพื่อน ซึ่งเธอสร้างสรรค์ผลงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบ้านผ่านการออกแบบที่คัดสรรมาอย่างดี จึงทำให้ Romanek Design Studio ถือกำเนิดขึ้น ซึ่ง Brigette เคยกล่าวเอาไว้ในเว็บไซต์ Domino ว่า “บ้านของคุณควรมาจากความรู้สึกและจิตวิญญาณของสถานที่ มันควรจะเป็นความรู้สึกของคุณ คุณควรจะมีความสุขที่นั่น และถ้าฉันช่วยคุณได้ แสดงว่าฉันทำงานนั้นได้ถูกต้องแล้ว”

นอกจากนี้ เธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับงานออกแบบกับ Artful Living เมื่อปี 2021 เอาไว้ว่า “องค์ประกอบการออกแบบหนึ่งอย่างที่ทุกบ้านต้องการ นั่นก็คือ การสร้างความรู้สึกที่สมบูรณ์ ให้ทุกบ้านมีความผาสุก หลังจากออกไปอยู่ในโลกที่น่าทึ่ง แต่บางครั้งก็บ้าคลั่งมาทั้งวัน เราก็ควรมีสถานที่ที่พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย รู้สึกเหมือนได้เป็นตัวของตัวเองและหายใจได้สะดวก อยู่ในที่ไหนสักแห่งเพื่อผ่อนคลาย” และนี่ก็เป็นสิ่งที่เธอยึดติดมาตลอดในการทำงานนั่นเอง

Yoon Ahn

            หลายคนอาจจะเคยได้ยินผลงานชื่อดังอย่าง AMBUSH รวมไปถึง Dior Men’s Jewelry ซึ่งผลงานเลื่องชื่อทั้งสองอย่างนี้เป็นฝีมือของดีไซเนอร์สาวด้านแฟชั่นอย่าง Yoon Ahn ซึ่งเธอเป็นดีไซเนอร์สัญชาติเกาหลี-อเมริกัน ที่มีบทบาทสำคัญในวงการแฟชั่นด้านเครื่องประดับ ด้วยผลงานที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของผู้ใส่ การออกแบบที่โดดเด่นไปกับแนว Street Fashion ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เธอกลายมาเป็น ‘ผู้นำเทรนด์สตรีทสู่ไฮแฟชั่น’ อีกทั้งยังได้รับรางวัลบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ (Avrora Inspiring Women Awards) จากแบรนด์ลักชัวรี่ระดับโลกอย่าง Bulgari อีกด้วย

            Yoon Ahn ให้สัมภาษณ์ถึงอุปสรรคของการมาเป็นดีไซเนอร์กับสื่อ Complex เมื่อปี 2019 เอาไว้ว่า “ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ผลงานของคุณต้องมีชื่อเสียงกว่าตัวของคุณเอง ฉันในฐานะผู้สร้าง เราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นแข็งแกร่งมาก ไม่ว่ามันจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ฉันคิดว่านั่นคือจุดที่คุณควรแสดงความภาคภูมิใจของคุณออกมา” และ Yoon Ahn ยังบอกว่าการเป็นชาวเอเชียที่มาเติบโตในอเมริกานั้นไม่ง่าย เพราะครอบครัวของเธอต่างทำงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นเหตุผลตอกย้ำว่าทำไมเธอถึงไม่ปริปากบ่นแม้จะเจออุปสรรคบนเส้นทางนี้มากแค่ไหนก็ตาม

ทั้งหมดนี้ เราได้เห็นถึงการเติบโตของพวกเธอผ่านผลงานการออกแบบหลากหลายอย่าง ทั้งชิ้นงานที่ถูกสร้างและวางเอาไว้บนพื้น หรือแม้แต่ชิ้นงานที่นำมาสวมเอาไว้บนตัวมนุษย์ ผลงานทุกชิ้นล้วนถ่ายทอดแนวคิดการออกแบบ วัฒนธรรม ค่านิยมในสังคม รวมถึงการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในวงการออกแบบทุกสาขา ให้เราได้เห็นว่า ‘ผู้หญิง’ ก็มีพลังในการสร้างสรรค์งานไม่แพ้ผู้ชายที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับพวกเธอทั้ง 6 คนที่ได้ทุบกรอบทรงเลขาคณิตแบบเดิม ๆ ออกมาเป็นชิ้นงานอันน่าทึ่งจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก