กักตัวอย่างปลอดภัย เริ่มต้นได้จากการจัดบ้าน

ในช่วงเวลานี้ที่ COVID-19 ยังระบาดและไม่มีท่าทีที่ผู้ติดเชื้อจะลงน้อยลง สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ที่พักอาศัยคนเดียวแล้วต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือต้องไปในพื้นที่เสี่ยง การแยกตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ออกจากสมาชิกครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคประจำตัวถือเป็นวิธีที่สำคัญที่ช่วยป้องกันเชื้อที่อาจจะอยู่ในตัวเรา ไม่ให้แพร่ไปสู่คนในครอบครัวที่เรารักได้

SC Asset ชวนมาจัดบ้านสำหรับการกักตัว ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว หรือ คอนโดมีเนียม ก็สามารถแบ่งพื้นที่ในการแยกตัวเองจากคนในครอบครัวได้

แยกห้องนอน

การแบ่งพื้นที่แยกห้องนอนสำหรับนอนคนเดียว ถือเป็นหัวใจหลักของการกักตัวอยู่บ้าน สามารถทำได้ ดังนี้

  • บ้านเดี่ยว

หากเป็นไปได้ควรแยกห้องนอนโดยเลือกห้องที่ปิดมิดชิด อยู่ในตำแหน่งมุมของบ้าน มีห้องน้ำในตัวเพื่อจำกัดบริเวณการแพร่กระจายหากเกิดติดเชื้อไวรัส โดยพื้นที่ในห้องควรมีลักษณะปลอดโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีแสงแดดส่องถึง

  • คอนโดมีเนียม

สำหรับใครที่อยู่คอนโดมีเนียมหรือห้องพักที่มีห้องนอนจำกัด ลองคุยกับสมาชิกในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่ำขอใช้พื้นที่ห้องนอนเป็นห้องสำหรับการกักตัว แล้วแบ่งพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องนั่งเล่นสำหรับไว้ดูโทรทัศน์หรือทานอาหาร แบ่งสัดส่วนพื้นที่ตรงนี้ให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่มีความเสี่ยงอยู่อาศัยแทน อย่าลืมนำของใช้ส่วนตัวของสมาชิกในบ้านแยกออกมาจากนอน เพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติโดยไม่ต้องเข้าไปหยิบของใช้ในห้องนอน

กรณีที่ไม่สามารถแยกห้องนอนได้

สำหรับครอบครัวที่มีพื้นที่บ้านจำกัด มีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้ใช้ฉากกั้นแผ่นอะคริลิค หรือ แผ่นพลาสติกกั้นห้องแทนได้ โดยแบ่งพื้นที่ห้องให้เป็นสัดส่วน เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร และสมาชิกในบ้านทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่ว่าลักษณะของที่พักจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือหมั่นรักษาความสะอาดที่พักอาศัยทุกวัน สำหรับผู้ที่แยกห้องนอนได้ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดติดห้องไว้ให้ครบ ได้แก่ เช่น ไม้กวาด ไม้ถูพื้น ผ้าเช็ดทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาด ถุงมือ ถุงขยะ น้ำยาฟอกขาว เพื่อทำความสะอาดห้องนอนทุกวันโดยไม่ต้องออกจากห้อง

แยกห้องน้ำ

ผู้ที่มีควรเสี่ยงควรแยกใช้ห้องน้ำส่วนตัว ทั้งห้องอาบน้ำและห้องสุขา อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเข้าห้องน้ำให้พร้อม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวุ่นวายในการจัดหาและออกมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง

ในกรณีที่ไม่สามารถแยกใช้ห้องน้ำกับสมาชิกในบ้านได้ พยายามใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ โถส้วม อ่างล้างหน้า ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที หากใช้ชักโครกหลังกดชำระล้างและทำความสะอาดแล้วให้ปิดฝาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

แยกการทานอาหาร

แยกภาชนะในการทานอาหารออกมาใช้ส่วนตัว เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ และไม่ทานอาหารร่วมกับสมาชิกในครอบครัว แต่ให้สมาชิกที่มีความเสี่ยงต่ำตักแบ่งอาหารมาให้ รวมถึงหากสั่งอาหารเดลิเวอรีก็ควรกำหนดจุดรับอาหาร เช่น บริเวณหน้าห้องนอน เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง

แยกขยะ

ควรเตรียมถุงขยะไว้ให้พร้อมสำหรับผู้ที่แยกตนเองออกจากสมาชิกในครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับ ‘ขยะติดเชื้อ’ ซึ่งก็คือขยะที่ปนเปื้อน สารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหาร ช้อน ส้อม ประเภทที่ใช้แล้วทิ้ง ให้รวบรวมขยะเหล่านี้ในแต่ละวัน แล้วทำลายเชื้อโรคด้วยน้ำยาฟอกขาว จากนั้นให้ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ปิดปากถุงให้สนิท แล้วมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป หลังจัดการขยะให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

TIPS ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่มีความเสี่ยง

  1. สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างมิดชิดตลอดเวลา และรักษาระยะห่างจากผู้ที่มีความเสี่ยงอย่างน้อย 2 เมตร 
  2. เลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ร่วมกับสมาชิกที่มีความเสี่ยง หากไม่แน่ใจ การล้างมือบ่อยๆ ช่วยได้
  3. หากใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ที่มีความเสี่ยง ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ
  4. หากเป็นผู้ที่นำอาหารไปส่งในจุดรับอาหารของผู้ที่มีความเสี่ยง ให้ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนและหลังวางอาหาร
  5. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีสารคลอรีนเป็นส่วนประกอบในการทำความสะอาดสิ่งของ เครื่องใช้ภายในบ้าน บริเวรบ้าน รวมถึงห้องน้ำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งเป็นประจำทุกวัน โดยล้างมือทั้งก่อนและหลัง รวมถึงต้องสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาด