‘การไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ’ คำกล่าวสุดคลาสสิคที่หลายคนได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ยิ่งสำหรับใครที่เคยเจ็บป่วยหนัก ๆ มาแล้ว คงเข้าใจประโยคนี้อย่างถ่องแท้กันดี
การดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจของตัวเองให้ดีถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย บางครั้งโรคภัยก็ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้เราได้ระวังตัว โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดความผิดปกติในร่างกายได้โดยที่เรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะสุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงช่วยป้องกันก่อนโรคจะลุกลาม สุขภาพย่ำแย่ลงได้ อาทิ โรงมะเร็ง หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
SC Sunblog ชวนทุกคนมาดู 5 เรื่องสุขภาพที่ควรรู้สำหรับผู้หญิง พร้อมเคล็ดลับดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และแนวทางป้องกัน ดังนี้
- สุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์

สุขภาพที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศของผู้หญิง เป็นเรื่องสำคัญของสุขภาพผู้หญิงที่ควรตระหนักอยู่เสมอ ควรทำการตรวจภายในและสังเกตสุขภาพเป็นประจำทุกปี เมื่อเจอโรคร้ายยิ่งเร็วยิ่งดี โดยสามารถป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยการมีเพศสัมพันธุ์อย่างปลอดภัย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตรอบเดือนของตัวเองอย่างอยู่ตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพได้
มะเร็งปากมดลูก : เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน ****เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้
โดยการดูแลป้องกันตนเองและตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และยังสามารถฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV (เชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก) เพื่อป้องกันได้ด้วย
ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย : เกิดขึ้นบริเวณภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด ที่เกิดจากการลดลงของแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิไล (Latobacilli) อาการที่พบบ่อย คือ ตกขาวผิดปกติ กลิ่นรุนแรง โดยช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย แม้ว่าในผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
ป้องกันได้ด้วยการไม่สวนล้างช่องคลอดหรือใช้น้ำยาล้างโดยไม่จำเป็น ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยตลอดเวลา ดูแลความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ไม่สวมใส่ชุดชั้นในที่เกิดความอับชื้นได้ง่าย
ช็อกโกแลตซีสต์ : โรคที่ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็น เกิดจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ มีประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนไปทางหลอดมดลูกเข้าไปในช่องท้องแล้วไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ ไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่างๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ช่องคลอด มดลูก โดยจะมีลักษณะข้นคล้ายช็อกโกแลตสะสมอยู่ในบริเวณนั้น ช็อกโกแลตซีสต์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่ค่อยเป็นอันตราย โดยมีอาการตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ถึงรุนแรงขึ้นอยู่กับความเร็วในการตรวจพบ
โรคนี้ป้องกันให้ไม่ลุกลามถึงขั้นรุนแรงด้วยการสังเกตตัวเองว่าปวดท้องบ่อยหรือไม่ ปวดประจำเดือนมากผิดปกติหรือเปล่า และเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงในภายหลัง
2. สุขภาพเต้านม

สุขภาพเต้านมของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
มะเร็งเต้านม : เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ควรตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพโดยการตรวจเต้านมด้วยวิธี Mammography เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบได้แต่เนิ่น ๆ ให้ไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ
สามารถป้องกันได้โดยดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากเซลล์ไขมันจะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม รวมทั้งควรออกกำลังกาย 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ตลอดจนการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ อาหารจากพืช ที่มีไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันสัตว์ ของทอด เลือกทานไขมันดี หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปและจำกัดการบริโภคเนื้อแดง เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. สุขภาพหัวใจ

โรคร้ายสำหรับผู้หญิงที่ควรระวัง ไม่ได้มีเพียงมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเต้านมเท่านั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมักเกิดในผู้หญิงวัยทำงานอายุ 40 ปี ขึ้นไป และผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ที่มีความเครียดสะสมจากการทำงาน ขาดการออกกำลังกาย ขาดการตรวจ สุขภาพ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการตีบของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากมีไขมันและหินปูนไปสะสมอยู่ในผนัง หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เมื่อต้องทำกิจกรรมออกแรงต่าง ๆ และอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้
การป้องกัน คือ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ให้มีความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด น้ำตาล และไขมันในเลือด ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น โยคะ พิลาทีส ทำสมาธิทานอาหารที่มีกากใยสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. สุขภาพจิต

สุขภาพจิตมีความสำคัญไม่ต่างกับสุขภาพร่างกาย ผู้หญิงมีแนวโน้มเข้ารับการรักษาอาการวิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านและทำงานหนักขึ้น เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว จึงอาจส่งผลให้สตรีเสี่ยงต่อการมีความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย
โดยเราสามารถบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวลได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบ หากมีเรื่องเครียดควรปรึกษา หรือพูดคุยกับคนรอบข้างอย่างเพื่อน ครอบครัว หรือเลือกคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในกรณีที่ไม่สามารถพูดคุยกับคนรอบข้างได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการที่ไม่ควรมองข้ามอย่าง ‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด’ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากคลอดบุตร
การใช้เลือกที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเรื่องสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การมีพื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอ มีพื้นที่ส่วนกลางที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ในทำเลที่รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นที่ฐาน จะทำให้เราได้สร้างสมดุลให้กับการทำงานและชีวิตได้ดี ให้บ้าน หรือคอนโดเป็นพื้นที่พักกาย พักใจจากความเครียดและสิ่งเร้าต่าง ๆ รอบตัวกันนะครับ
5. โภชนาการ

โภชนาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ไม่ว่าเพศไหน ๆ ควรเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผัก ผลไม้ ผัก ธัญพืช โปรตีนไม่ติดมัน และไขมันดี นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมลูกอยู่ ควรให้ความใส่ใจกับสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพของตัวเราเองและสุขภาพของทารกในครรภ์ครับ
การมีสุขภาพที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากความกังวล อีกทั้งยังมีเวลาไปดูแลคนรอบข้างได้อย่างเต็มที่อีกด้วยครับ
Leave a Reply